ความเป็นมาของอาชีพ รปภ.

ความเป็นมาของอาชีพ รปภ.

อาชีพรักษาความปลอดภัยได้เริ่มเป็นรูปธรรมอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2508 ประเทศ สหรัฐอเมริกาได้ส่งกำลังทหารเข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม ซึ่งได้มีการจ้างให้มีคนดูแลรักษาความปลอดภัยฐานทัพต่างๆ เช่น ที่อู่ตะเภา มีการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ว่าต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยและมีระเบียบวินัยเป็นอย่างดีซึ่งในขณะนั้น ยังไม่มีบริษัทรักษาความปลอดภัยของเอกชนเปิดให้บริการ จึงได้มีบุคคลกลุ่มหนึ่งรวบรวมทหารที่ปลดประจำการแล้วให้มาทำหน้าที่เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยฐานทัพ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อของ “Thai Guard หรือไทยยาม” จึงนับได้ว่า Thai Guard เป็นบุคคลกลุ่มแรกที่เริ่มต้นงานด้านการรักษาความปลอดภัยของเอกชนแห่งประเทศไทยเมื่อเศรษฐกิจมีความรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มีความต้องการของบุคลากรด้านการรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้น Thai Guard ซึ่งมีจำนวนอยู่จำกัดไม่สามารถรองรับความต้องการของธุรกิจที่มีความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วได้ ประกอบกับมีผู้เห็นว่างานรักษาความปลอดภัยสามารถที่จะทำเป็นอาชีพได้ จึงมีการจัดตั้งบริษัทรักษาความปลอดภัยของเอกชนเกิดขึ้น (แสงวัน โรจนธรรม, 2549, น.29) บริษัทรักษาความปลอดภัยได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมรักษาความปลอดภัย ขึ้น 3 สมาคม ได้แก่ 1) สมาคมผู้ประกอบการการรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศ ไทย 2) สมาคมผู้บริหารงานรักษาความปลอดภัยแห่งประเทศไทย และ3) สมาคมรักษาความปลอดภัย ภาคพื้น เอเชีย

การรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งจำเป็นของสังคมจนถือได้ว่าเป็นวิชาชีพที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่ง บุคลากรในวิชาชีพนี้ในสายงานราชการ ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งกำลังประมาณ 300,000 คน สายธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยภาคเอกชน หรือบริษัทรักษาความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเคยมีมากถึง 2,400 บริษัท มีกำลังประมาณ 240,000 คน ปัจจุบันสภาพสังคมไทยได้เปลี่ยนแปลงมาถึงจุดที่มีความจำเป็นต้องถ่ายโอนภารกิจรักษาความปลอดภัย บางภารกิจจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปให้องค์กรเอกชนดำเนินการแทน ได้มีความพยายามประสานความร่วมมือกันระหว่าง ราชการ พรรคการเมือง และองค์กรเอกชนที่ประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยในการตราพระราชบัญญัติวิชาชีพรักษาความปลอดภัย และพระราชบัญญัติการรักษาความปลอดภัยภาคเอกชน มาอย่างต่อเนื่อง (วิชัย ศิรินคร,2545 ,น. 1)

อาชีพ และธุรกิจรักษาความปลอดภัยเป็นสิ่งที่อยู่คู่สังคมไทยมาเป็นระยะเวลานานในการทำหน้าที่เป็นผู้รักษาความปลอดภัยให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ธุรกิจ บริษัทห้างร้านต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่หน่วยงานของภาครัฐ ต่างก็ต้องอาศัยบริการของการรักษาความปลอดภัยเพื่อให้ความคุ้มครอง ป้องกันความปลอดภัยให้แก่ทรัพย์สินของตน จากสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบันทำให้สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มจำนวนสูงขึ้น มีรูปแบบและวิธีการในการก่ออาชญากรรมที่มีพัฒนาการไปมากกว่าเดิม รวมไปถึงสถานการณ์ความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้ภาคประชาชนและภาคธุรกิจต่างๆ ต่างก็ตระหนักถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น แก่ชีวิตและทรัพย์สินของตนได้ ก่อให้ความต้องการของบริการรักษาความปลอดภัยในจำนวนที่สูงขึ้น รวมไปถึงได้ก่อให้เกิดความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อบทบาทของพนักงานรักษาความปลอดภัยในการทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคมไทยอีกด้วย

งานรักษาความปลอดภัยเป็นงานที่มีความสำคัญและได้ดำเนินการอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานานแม้แต่ กระทรวงยุติธรรมเองก็ใช้บริการของธุรกิจรักษาความปลอดภัย งานด้านรักษาความปลอดภัยมีความสำคัญยิ่งโดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบันที่ทำให้อาชญากรรมมีลักษณะ ปริมาณและ รูปแบบเปลี่ยนไปมาก จนทำให้มาตรการของภาครัฐและองค์กรภาครัฐที่ใช้ในการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินขยายตัวตามทัน การบริหารจัดการในบริษัทรักษาความปลอดภัยนั้น มีปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการบริหารจัดการ ซึ่งประกอบไปด้วย บุคคล (Man) เงินทุน (Money) และวิธีการ (Method) โดยบริษัทรักษาความปลอดภัยแต่ละแห่งจะต้องมีการจัดสรรปัจจัยพื้นฐานดังกล่าวให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด โดยปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญ คือ “ทรัพยากรบุคคล” เพราะแม้ว่า บริษัทรักษาความปลอดภัยแต่ละแห่งจะมีเงินทุนมาก หากขาดพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ และทัศนะคติที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ก็อาจจะส่งผลให้บริษัทรักษาความปลอดภัยแต่ละแห่งขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ขาดศักยภาพในการพัฒนากระบวนการ และอาจส่งผลถึงความล้มเหลวในการดำเนินงานของบริษัทรักษาความปลอดภัยในระยะยาวได้

ดังนั้นผู้บริหารต้องศึกษาและให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพย์กรมนุษย์ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กร เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีที่สุด พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ทำงาน ทุกคนมีความคาดหวังผลจากการทำงานทั้งสิ้น และในขณะเดียวกันบริษัทรักษาความปลอดภัยก็มีความคาดหวังให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จึงมีความต้องการพนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมาย ซึ่งความ ต้องการของพนักงานรักษาความปลอดภัยแต่ละบุคคลที่เข้ามาทำงาน มีเหตุผลและความต้องการ แตกต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาการลาออกของพนักงานรักษาความปลอดภัยบ่อยครั้ง พนักงานรักษาความปลอดภัยปฏิบัติงานไม่เต็มประสิทธิภาพ จากปัญหาดังกล่าว บริษัท รักษาความปลอดภัยต้อง ตระหนัก และให้ความสำคัญกับพนักงาน เพื่อทำให้พนักงานเหล่านั้นได้รับความพึงพอใจมากกว่าในสภาพที่เป็นอยู่ จนนำไปสู่การเกิดแรงบันดาลใจให้บุคคลต้องการทำงานหรือเกิดแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ซึ่งเกิดจากความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่จะนำไปสู่การสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ

ppcareclean

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *